วันพุธ, กันยายน 18, 2024
spot_img
หน้าแรกเรื่องเล่าลพบุรี+ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (2)

ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (2)

(2) “เมืองลูกหลวง” และ “เมืองท่าหน้าด่าน” สมัยอยุธยาตอนต้น
เมื่อมีการเปลี่ยนภูมิทัศน์ใหม่ในปลายพศว.18 ถึงพศว.19 นั้น บริเวณเมืองท่าอโยธยาค่อยๆ ทวีความสำคัญขึ้นตามลำดับ เพราะตั้งอยู่ในบริเวณที่แคว้นสุพรรณภูมิกับแคว้นละโว้มาบรรจบกัน ฝ่ายสุพรรณภูมิเข้ามาตั้งชุมชนเมืองอยู่ที่ “ปท่าคูจาม” ขณะที่ฝ่ายละโว้ก็ลงไปตั้ง “นครพระราม” อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก-ปากน้ำแม่เบี้ย ตกถึงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ทั้งสองชุมชนเมืองก็รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน  ทั้งนี้เพราะทรงมีเชื้อสายมาจากราชวงศ์ผู้ครองลพบุรี เสด็จไปเป็นยุพราชครองเพชรบุรี ผูกสัมพันธไมตรีกับเมืองนครศรีธรรมราช และเป็นเครือญาติผ่านการอภิเษกสมรสกับเจ้านายสตรีในราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ดังที่มีเรื่องว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พะงั่ว) ผู้ครองสุพรรณภูมิเวลานั้นมีฐานะเป็นพี่เขยของพระองค์)

เมื่อเกิดโรคห่าระบาดขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ทรงย้ายไปประทับอยู่ที่ปท่าคูจาม ก่อนจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 ทั้งที่ปท่าคูจามก็อยู่ในทำเลที่เหมาะสมยิ่งกว่าหนองโสน (บึงพระราม) เสียอีก แต่เนื่องจากปท่าคูจามเป็นเพียงเมืองของญาติที่ลี้ภัยโรคระบาดไปอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น  จึงต้องแสวงหาทำเลสำหรับสร้างเมืองใหม่ หลังการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ปท่าคูจามก็ยังคงมีฐานะเป็นเมืองท่าของฝ่ายสุพรรณภูมิอยู่ต่อมาจนถึงสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์)

ในช่วงระยะแรกเริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรีมีสถานะเป็น “เมืองลูกหลวง” ของอาณาจักร  ระยะนี้เองคำว่า “ลพบุรี” มีนัยยะสำคัญที่ใช้สืบเนื่องต่อมา เพราะเข้ากับคติรามายณะ แม้ว่าพสกนิกรในบ้านเมืองเวลานั้นจะนับถือพุทธเถรวาทลังกาวงศ์ แต่ชนชั้นปกครองก็คงถือคติพราหมณ์ผสมปนเปกัน  ความเป็น “นครพระราม” ได้เคลื่อนจากละโว้ลงไปที่อโยธยา แล้วละโว้ก็สลับกลับกลายเป็น “เมืองพระลพ” โอรสพระรามขึ้นแทนที่ การสลับปรับเปลี่ยนในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครอง และอยุธยาขยายอำนาจขึ้นไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนือจนผนวกรวมสุโขทัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรได้สำเร็จ คำว่า “นครพระราม” ตามกฎหมายตราสามดวงก็กลับไปปรากฏเป็นราชทินนามของเจ้าเมืองลพบุรีขึ้นใหม่อีก แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากคำว่า “ลพบุรี” ใช้กันมาช้านานจนคุ้นชิ้นแล้ว การกลับไปใช้ “นครพระราม” ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงเป็นแต่เพียงชื่อทางราชการเท่านั้น

เหตุที่เป็นเมืองตั้งอยู่ทิศเหนือก่อนถึงนครหลวงเพียง 2 วัน (ถ้าม้าเร็วก็เพียง 1 วันหรือวันครึ่ง) ลพบุรีนอกจากจะถือเป็น “เมืองลูกหลวง” หรือ “หัวเมืองชั้นเอก” แล้ว ในแง่ยุทธศาสตร์การทหารลพบุรียังมีฐานะเป็น “เมืองท่าหน้าด่าน” (ถ้าว่าตามภาษายุคปัจจุบันก็จะตรงกับ “เมืองทหาร” ก็ไม่ผิดนัก) ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงตระหนักว่าการขึ้นสู่อำนาจของพระองค์นั้นเป็นผลจากการร่วมมือกันระหว่างขุนนางหัวเมืองฝ่ายเหนือกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ โค่นล้มกลุ่มพระนางศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราชที่มีสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ละโว้ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจแก่อีกฝ่ายซึ่งสืบสายมาจากวงศ์กษัตริย์ผู้สถาปนากรุง ในขณะที่เวลานั้นกำลังจะมีศึกภายนอกคือพม่าสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ จึงทรงให้รื้อกำแพงเมืองและยกเลิกเมืองท่าหน้าด่านเสีย เพราะเกรงว่าหากหัวเมืองก่อกบฏก็จะยากแก่การปราบปราม อีกทั้งเมื่อมีศึกภายนอกยกเข้ามาก็จะทำให้ศัตรูยึดเอาเป็นฐานโจมตีเมืองหลวงได้ หลังจากนั้นอยุธยาก็เริ่มหันมาใช้ระบบป้องกันตนเองโดยมุ่งเน้นใช้ชัยภูมิเกาะเมืองอยุธยารับมือข้าศึก

อย่างไรก็ตามแม้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะทรงให้รื้อกำแพงเมือง แต่ก็ยังทรงให้ความสำคัญกับลพบุรีในฐานะ “เมืองทางศาสนา” ดังจะเห็นได้จากทรงให้บูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และโปรดให้ “แต่งปะขาวนางชี 200 กับข้าพระให้อยู่รักษาพระมหาธาตุ” ต่อมาในช่วงก่อนการเสียกรุงครั้ง พ.ศ.2112 เล็กน้อย  สมเด็จพระมหินทราธิราชก็โปรดให้บูรณะพระมหาธาตุนี้อีกครั้ง การพลาดหวังจากที่ไม่ได้ครองเมืองพิษณุโลกตามธรรมเนียม เพราะเมืองพิษณุโลกอยู่ในข้อตกลงระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระมหาธรรมราชา การสร้างสายสัมพันธ์ต่อเมืองลพบุรีในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราชก็เพื่อคานกับพิษณุโลกภายใต้พระมหาธรรมราชาซึ่งหันไปเข้าฝ่ายพระเจ้าบุเรงนอง

สมเด็จพระนเรศวรนับเป็นพระมหากษัตริย์ที่โปรดเสด็จประพาสลพบุรีก่อนหน้ารัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งนี้เพราะความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์การทหาร คาดว่าการเสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ.2145 นั้นก็เพื่อสำรวจชัยภูมิเมืองลพบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ใช้นโยบายป้องกันเมืองหลวงโดยการยกทัพออกไปทำลายข้าศึกตั้งแต่หัวเมือง ไม่ปล่อยให้ยกเข้ามาประชิดอยุธยาเหมือนดังในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระมหินทราธิราช แม้ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรจะไม่ถึงกับฟื้นเมืองท่าหน้าด่านขึ้นมาใหม่ แต่ลพบุรีก็ยังคงเป็นหัวเมืองสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในด้านกำลังคนและการคล้องช้าง ซึ่งเป็นยุทธปัจจัยสำหรับกองทัพสมัยนั้นและยังเป็นสินค้าส่งออกได้กำไรงามอีกด้วย

ตอนที่ 1 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (1)
ตอนที่ 2 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (2)
ตอนที่ 3 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (3)
ตอนที่ 4 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (4)
ตอนที่ 5 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (5)
ตอนที่ 6 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (6)
ตอนที่ 7 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (7)

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Most Popular

Recent Comments