วันพุธ, กันยายน 18, 2024
spot_img
หน้าแรกเรื่องเล่าลพบุรี+ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (3)

ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (3)

(3) การพัฒนาในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์
สำหรับประเด็นปัญหาที่ว่า เพราะเหตุใดทำไมสมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดเสด็จประทับที่ลพบุรีเป็นเวลานานในแต่ละปี ที่ผ่านมามีการศึกษาและอภิปรายกันหลากหลายแง่มุมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัจจัยจากศัตรูภายนอก เช่น ฮอลันดา หรือเพราะการเมืองภายในอยุธยา การขยายอำนาจของอยุธยาไปยังล้านนาและล้านช้างซึ่งทำให้ลพบุรีอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกว่าอยุธยา หรือจะเพราะทรงโปรดการคล้องช้างเนื่องจากการขยายตัวของการค้าช้างในแถบมหาสมุทรอินเดีย หรือจะเพราะเหตุผลว่าทรงมีเชื้อสายเขมร ดังปรากฏในเอกสารคู่มือทูตตอบเมื่อออกพระวิสุทธิสุนทร (โกษาปาน) ไปฝรั่งเศส หรือแม้แต่เหตุผลอย่างการที่มีต้นแบบแรงบันดาลใจจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่มีพระราชวังแวร์ซายส์แยกต่างหากจากเมืองหลวงคือกรุงปารีส เป็นต้น

อีกเหตุผลสำคัญที่ไม่ค่อยพูดถึงในงานศึกษาภายหลัง แต่ปรากฏมากในเอกสารหลักฐานของต่างชาติ คือเหตุผลทางด้านสุขภาพพลานามัยส่วนพระองค์ที่มีโรคประจำพระวรกายคือวัณโรคกับหอบหืด ทำให้ต้องประทับอยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์  ปราศจากฝุ่นที่เป็นพิษ ช่วงเวลาที่เสด็จมาประทับลพบุรีมักเป็นฤดูร้อน สภาพของกรุงศรีอยุธยาเวลานั้นซึ่งจะเห็นได้จาก “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” ผู้คนนับแสนอยู่รวมกันภายในระยะ 12 ตร.กม. ถนนหนทางเต็มไปด้วยอิฐปูน ช้างม้า วัวควาย พาหนะคราครั่งมากมาย อยุธยาคงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่นไม่เหมาะอาศัยสำหรับคนเป็นโรคเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ สภาพดังกล่าวนี้ตรงกันข้ามกับลพบุรีในสมัยนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 56 พรรษา (ประสูติเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2175 ครองราชย์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2199 สวรรคตเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231) อันที่จริงสำหรับยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังมีอายุเฉลี่ยเพียง 35-40 ปี ก็ถือว่าทรงมีพระชนม์ยืนนานอยู่ไม่น้อย ลพบุรีที่ทรงสร้างถึงกับปลูกต้นไม้จัดสวนอุทยานด้วยพระองค์เอง คงมีส่วนไม่น้อยในการควบคุมสภาพแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อพระพลานามัย

อย่างไรก็ตามเหตุปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนแต่มีความเป็นไปได้ด้วยกันทั้งสิ้น สาเหตุที่ทรงเสด็จประทับลพบุรีอาจไม่ได้มาจากเหตุปัจจัยข้อใดข้อหนึ่ง จากการพิจารณาว่าแต่ละเหตุผลล้วนมีความหนักแน่นและมีหลักฐานสนับสนุนอยู่ทั้งหมด อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุปัจจัยที่กล่าวมานี้ทั้งหมดรวมกัน  มากกว่าจะเป็นเหตุผลตามข้อใดข้อหนึ่ง ธรรมชาติมนุษย์เมื่อมีเหตุผลหลายข้อรวมกัน ก็ย่อมจะเกิดความเป็นไปได้ที่จะกระทำตามเหตุปัจจัยเหล่านั้นได้มาก

ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เมืองลพบุรีได้รับการพัฒนาปรับปรุงไปอย่างมากมาย จนนับได้ว่าเป็นเมืองที่มีสิ่งอันทันสมัยและมั่งคั่งมากเป็นลำดับต้นของราชอาณาจักร สิ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้ได้ดีนอกจากบรรดาหอดูดาว ท่อน้ำประปา ลักษณะอาคารรูปทรงสถาปัตย์ต่างๆ แล้ว สำหรับผู้เขียนสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นที่สุดในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์นั้นคือ “พระคลังศุภรัตน์” หรือกลุ่มอาคารที่เรียกว่า “สิบสองท้องพระคลัง” ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนการย้ายศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจการคลังของราชอาณาจักรมาอยู่ที่ลพบุรี กล่าวได้ว่าอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ยังคงเป็นเมืองศูนย์กลางก็แต่ด้านพิธีกรรม อย่างทวาทศมาส หรืออย่างการต้อนรับราชทูตครั้งแรก (ครั้งถัดมาพวกทูตและแขกบ้านแขกเมืองก็ต้องเดินทางต่อมาเพื่อเข้าเฝ้าที่ลพบุรี) โดยสรุปสิ่งปลูกสร้างที่ทำในสมัยพระนารายณ์และเหลือตกทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม  สามารถจัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภทกว้างๆ ดังนี้:

  1. สถานที่ที่ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นใหม่ แบ่งย่อยได้เป็น 5 ประเภทคือ (1) สิ่งซึ่งเราจะพบเห็นได้ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์หรือ “วังพระนารายณ์” อาทิ พระที่นั่งจันทรพิศาล, พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาท, พระที่นั่งสุทธาสวรรย์, ตึกพระเจ้าเหา (วัดมหาปราสาท), ตึกเลี้ยงรับแขกเมือง, พระคลังศุภรัตน์หรือกลุ่มอาคารสิบสองท้องพระคลัง, หมู่ตึกพระประเทียบ, โรงช้างโรงม้าพระที่นั่ง, ซุ้มประตูและกำแพงพระราชวัง, ทิมดาบ, ท่อน้ำประปา เป็นต้น (1.2) ที่ประทับอื่นๆ อาทิ พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น), พลับพลาประทับร้อนที่อ่างซับเหล็ก, รวมทั้งพระตำหนักเจ้าปลุก ในอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระตำหนักสระยอ ในอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นที่ประทับทรงให้สร้างขึ้นในเส้นทางเสด็จ (1.3) แนวปราการป้องกันเมือง อาทิ กำแพง ป้อม และประตูเมือง ปัจจุบันเหลือเพียงป้อมท่าโพธิ์, ป้อมชนะสงคราม, ประตูชัย, ประตูเพนียดหรือประตูโคราช (1.4) สิ่งปลูกสร้างเพื่อความสะดวกในการคมนาคม อาทิ ถนน สะพาน สระน้ำ ปัจจุบันเหลือเพียงสะพานช้าง, สะพานเรือก, สระมโนราห์ (คาดว่าเป็นสระเสวย)  (1.5) ศาสนสถานที่สร้างในรัชกาล อาทิ วัดบันไดหิน, วัดอินทรา อาจมีวัดอื่นๆ อีกแต่คงร้างไปหรือไม่ปรากฏซากแล้ว จึงไม่เป็นที่รับรู้

2. สถานที่ที่ทรงให้บูรณะปรับปรุงขึ้นภายในสถานที่ที่มีอยู่ก่อนเดิมก่อนหน้ารัชกาลของพระองค์ ได้แก่ ศาลสูงหรือศาลพระกาฬที่สร้างอยู่ตรงหน้าปราสาทเขมรเดิม (มีการบูรณะและทำใหม่หลายครั้งจนมีสภาพดังปัจจุบัน), วิหารหน้าปราสาทปรางค์สามยอดในคราวที่ทรงให้ปรับปรุงปราสาทเขมรเป็นวัดพุทธ (วัดใหม่ปรางค์สามยอด), อาคารวิหารและแท้งค์น้ำประปาที่ปรางค์แขก, ศาลาเปลื้องเครื่องและวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ, ตึกคชสาร (โคระส่าน) และตึกปิจูที่วัดเสาธงทอง, วัดไลย์ที่อำเภอท่าวุ้ง, วัดเขาสมอคอนที่อำเภอท่าวุ้ง, วัดค้างคาว (วัดธรรมิการาม) ที่อำเภอบ้านหมี่, พระตำหนักธารเกษมและพระตำหนักสระยอที่พระพุทธบาท สระบุรี เป็นต้น

3. สถานที่ที่เหล่าขุนนางตลอดจนชาวเมืองสร้างและบูรณะขึ้นใหม่ในรัชกาลของพระองค์ ได้แก่ วิหารหลวงวัดนครโกษา, บ้านวิชาเยนทร์หรือบ้านหลวงรับราชทูต, โบสถ์สันเปาโล (สร้างโดยคณะบาทหลวงฝรั่งเศส), วัดซาก (วัดหินสองก้อน) (มีร่องรอยการบูรณะก่ออิฐเสริมและปรับปรุงแผนผัง), วัดขวิด (ภายหลังรัชกาลที่ 4 ทรงบูรณะเปลี่ยนนามเป็น “วัดกวิศวราราม”), วัดเชิงท่า (วัดท่าเกวียน), วัดพรหมาสตร์ (เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นดังจะเห็นได้จากใบสีมา พระพุทธรูป และสถูปเจดีย์), วัดปืน (จากซากฐานและแผนผังเดิมเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น), วัดตองปุ, วัดชีป่าสิตาราม, วัดไก่ (ร้าง), วัดราชา (ร้าง) เป็นต้น

ตอนที่ 1 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (1)
ตอนที่ 2 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (2)
ตอนที่ 3 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (3)
ตอนที่ 4 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (4)
ตอนที่ 5 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (5)
ตอนที่ 6 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (6)
ตอนที่ 7 ลพบุรีสมัยพระนารายณ์ ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม (7)

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Most Popular

Recent Comments