วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
spot_img
หน้าแรกเรื่องเล่าลพบุรี+Lopburi On Film. ลพบุรีบนภาพยนตร์

Lopburi On Film. ลพบุรีบนภาพยนตร์

ของขวัญจากท่านผู้นำ
พ.ศ.2481 รมณียสถานอันโอฬารแห่งยุคท่านผู้นำ นามว่าโรงภาพยนตร์ทหานบก ได้ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองลพบุรีด้วยสถาปัตยกรรมที่โอ่อ่า เรียบง่ายแต่แลดูมีมนต์ขลัง ทำให้โรงภาพยนตร์ทหานบกถูกกล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมากในยุคนั้น ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์ชั้นดีที่อยู่ในกรุงเทพฯ

เนื่องจากโรงภาพยนตร์ทหานบกเป็นโรงภาพยนต์ของทหาร ทำให้หนังส่วนใหญ่ที่นำมาฉาย มักจะเป็นหนังสงคราม ในสมัยก่อน ถ้ามีภาพยนต์ฉาย จะฉายในเวลา 20.00 น. ก่อน 20.00 น. จะมีเพลงมาร์ชกองทัพบกก่อนพอประชาชนในละแวกนั้นได้ยิน ก็จะรู้ทันทีว่าหนังกำลังจะฉายแล้ว ให้เตรียมตัวออกจากบ้าน ส่วนการเดินทางมีรถรับส่งจากปรางค์แขกมายังโรงภาพยนตร์ทหานบก ดูหนังจบก็นั่งรถกลับไปนังจุดเดิม
.
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนลพบุรีคือสมัยนั้นเพลงสรรเสริญพระบารมีจะถูกเปิดหลังจากที่หนังจบแต่เนื่องจากผู้ชมต้องรีบออกจากโรงหนังเพื่อไปขึ้นรถรับส่งกลับบ้าน ทำให้เกิดความคิดที่จะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนที่หนังจะฉาย จนเป็นที่แพร่หลายและยึดถือกันไปปฏิบัติทั่วทั้งประเทศ
.
วิกท่าขุนนาง
โรงภาพยนตร์นารายณ์ประสิทธิ์ที่เป็นที่นิยมสมัยคุณพ่อคุณแม่เรานั้น มีความเปลี่ยนถึง 3 ยุค ยุคแรกนั้นคือโรงหนังท่าขุนนางหรือที่เรียกกันติดปากว่า “วิกท่าขุนนาง” ตั้งอยู่ตรงตลาดท่าขุนนาง มีลักษณะเป็นโรงไม้คล้ายกับโรงนา ภายในเป็นเก้าอี้แถวยาว แต่ก็ยังมีชั้นชั้นหนึ่งและชั้นสอง สร้างความหรูหราได้บ้าง เดิมทีโรงนาแห่งนี้เป็นของคุณนายทองอยู่ ไว้ใช้ในการเก็บผลหมากรากไม้ที่เดินทางมาทางเรือ มีคณะลิเกมาเช่าทำการแสดงบ้าง จนคุณสนุ่น วิมุกติพันธ์ ซึ่งมีความผูกพันกับหลวงพันธ์(เจ้าของโรงภาพยนต์เฉลิมกรุง) ได้รับคำแนะนำว่าถ้าธุรกิจที่มีความเป็นไปได้สวย ณ ขณะนั้นก็น่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์ เพราะคนส่วนใหญ่กำลังหันเหจากการชมลิเกมาชมภาพยนต์กันมาขึ้น คุณสนุ่นจึงมาเช่าโรงนา

แห่งนี้เพื่อเปิดเป็น “โรงหนังท่าขุนนาง” ต่อมาโรงหนังท่าขุนนางได้ปิดตัวลงและไปสร้างในที่แห่งใหม่คือโรงภาพยนตร์นารายณ์ประสิทธิ์ (ห้างภิญญาฯในปัจจุบัน)

.
นารายณ์ประสิทธิ์ VS มาลัยรามา
คุณแดง มนัส วิมุกติพันธ์ เล่าให้เราฟังว่า “การที่คุณพ่อ (สนุ่น วิมุกติพันธ์) คิดสร้างโรงภาพยนตร์นารายณ์ประสิทธิ์เนี่ย เกิดจากความคิดที่จะทำโรงหนังที่เป็นของตัวเองและมุ่งสู่สายหนังอย่างเต็มตัว มีการคัดหนังที่จะมาฉายมากขึ้น รวมถึงยังเป็นผู้อำนวยการสร้างเองอีกด้วย ส่วนตัวพี่นี่ก็ทำงานเป็นทุกอย่าง สมัยเด็กๆ อายุ 8-9 ขวบ นี่ก็ขายตั๋วหนังแล้วนะ นั่งเขียน ก.ไก่ เลข 1 2 3 … เขียนทุกวัน จนวันนี้ยังมั่นใจอยู่เลยว่าเรื่องคัดลายมือพี่ไม่แพ้ใคร

.
ยุคนั้นนารายณ์ประสิทธิ์เฟื่องฟูมาก คนเต็มแทบทุกรอบ จนมีมาลัยรามาเปิดตัวขึ้นมา โห….มาเลย โรงใหญ่ติดแอร์ใหม่ ทีนี่คนก็หันไปทางมาลัยกันหมด ถึงหนังที่ฉายจะไม่ซ้ำกัน ต่างแนวกัน เพราะรับมาจากคนละบริษัทแต่ความสบายก็ทำให้คนหนีไปทางโน้น คุณพ่อก็เริ่มท้อ แต่พี่บอกไม่ได้ พี่จะสู้ จำได้เลยว่าตอนนั้นมีหนังอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องตึกนรก เป็นหนีงฟอร์มยักษ์กำลังจะเข้าฉายที่มาลัย โดยปกติแล้วบริษัทหนังหนึ่งบริษัทจะขายหนังให้เพียงจังหวัดละโรงเท่านั้น แต่เรื่องนี้มันฟอร์มยักษ์จนต้องเอามาฉายในโรงเราให้ได้ พี่ก็แบบ เอาวั! เบิกเงินจากธนาคารไป 500,000 บาท เอาใส่กระเป๋ากางเกงรัดยาง เพราะสมัยนั้นยังไม่มี ATM นั่งรถไปกรุงเทพฯ ไปที่บริษัทที่เป็นคนส่งเรื่องตุกนรกนี้ไปฉายที่จังหวัดต่างๆ เพื่อที่จะไปเอาตึกนรกมาฉายที่นารายณ์ประสิทธิ์ให้ได้


พี่ก็เลี้ยงข้าว เลี้ยงหลายมื้อ หลายวันเลย ระดับภัตาคารทั้งนั้น แต่ก็ยังโดนปฏิเสธจนต้องบอกไปว่าถ้าขายให้พี่ รับรองว่าจะมีโรงที่อยุธยา สระบุรี นครสวรรค์ มาซื้อเพิ่มแน่นอน เพราะรู้จักกันดีอยู่แล้ว บริษัทก็เลยกลับไปคิด สุดท้ายพี่ก็ได้หนังเรื่องตึกนรกมาฉายสำเร็จ ซึ่งรายได้ก็ถล่มทลายตามคาด ทำให้นารายณ์ประสิทธิ์กลับมาฟื้นอีกครั้ง
.
คุณเอ๋ กรรณิการ์ มรรคศศิธร ลูกสาวเจ้าของโรงภาพยนตร์มาลัยรามา “เดิมทีที่ตรงมาลัยฯเนี่ยเป็นสนามแบดฯมาก่อน แต่คนพ่อ(มนตรี บรรพพงศ์) เป็นคนชอบดูหนังมาก เลยอยากสร้างโรงหนังของตัวเอง ซึ่งตอนนั้นลพบุรีก็มีโรงหนังอยู่แล้ว คือนารายณ์ประสิทธิ์ เป็นโรงหนังเก่าแก่แต่ยังไม่มีแอร์ คุณพ่อเลยไปดูงานจากโรงหนังในกรุงเทพฯ กลับมาสร้างขึ้นและเปิดตัวในปี พ.ศ. 2515 เป็นโรงหนังแอร์ที่จุคนได้มากที่สุดในลพบุรี หนังเรื่องแรกที่ฉายคือเรื่อง “ใจแม่” นำแสดงโดย มีตร ชัยบัญชากับเพชรา เชาวราช จำได้ว่าเรื่องนี้คนดูเยอะมาก หลังจากนั้นคนก็เยอะ แน่นมาโดยตลอด อีกอย่างตอนนั้นมันจะเป็นการพากษ์เสียงกันสดๆแล้ว คนดูก็ติดนักพากษ์เรามาก เพราะเก่งและตลก คนบางส่วนมาดูหนังก็เพราะติดนักพากษ์ก็มี
นึกถึงบรรยากาศสมัยก่อนนี่มันดีมาก เหมือนวัยรุ่นสมัยนั้นต้องแต่งตัวสวยๆหล่อๆนัดกันมาดูหนัง เรียกได้ว่าถนนเส้นนั้นนี่คึดคักมากต่างจากสมัยนี้เยอะ
.
3 in 1
นอกจากคุณมนตรี บรรพงศ์ จะมาสร้างโรงภาพยนตร์มาลัยรามาให้เป็นที่นิยมแล้ว ยังขยับขยายกิจการที่ตนเองรัก ด้วยเข้าไปบริหารโรงภาพยนตร์ลพบุรีเธียเตอร์และโรงภาพยนตร์ทหานบก รวมเป็นสามแห่ง โดยทั้งสามแห่งนี้จะมีคาแรคเตอร์ที่ต่างกัน มาลัยรามาเน้นฉายหนังไทย ลพบุรีเธียเตอร์เน้นฉายหนังฝรั่งและหนังจีน

ส่วนทหานบกจะเป็นโรงที่ฉายหนังควบสองเรื่องที่เพิ่งลาโรงจากสองแห่งข้างต้น ทำให้ช่วงระหว่างปี 2535 เป็นต้นไป ระบบการจัดการของคุณมนตรนั้นโดนใจคนลพบุรีอย่างมาก เข้าใจง่าย ทราบว่าอยากดูหนังแบบไหนควรไปที่ไหน ราคาถูก สะดวกสบาย แม้กระทั่งการเกิดขึ้นมาของโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นอีกโรงที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบในยุคนั้นอย่างภิญญาฯ(นารายณ์ประสิทธิ์เดิม) ก็ไม่อาจแบ่งส่วนยอดผู้ชมไปได้มากนัก
.
การล่มสลายของโรงหนังท้องถิ่น
พ.ศ. 2544-2545 คือยุคที่โรงภาพยนตร์ท้องถิ่นลพบุรี ปิดตัวลงไป สาเหตุจากการเข้ามาของ VCD เถื่อน ที่เป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงเอเจนซี่เคยที่ส่งหนังมาฉายตามโรงเหล่านี้อย่าง ธนา ซีนิเพล็กซ์ ก็ได้เข้ามาทำโรงภาพยนตร์เสียเองในลพบุรี ซึ่งมีทั้งความพร้อมในทุกๆด้าน จนโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นต่างๆ ต้องยุติบทบาทลง
ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ทหานบก ยังเป็นสมบัติของกองทัพบก แต่ถูกเช่าโดยบริษัทรับจัดหางานและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
วิกท่าขุนนาง คือ บริเวณตลาดสดท่าขุนนาง
นารายณ์ประสิทธิ์ คือห้างภิญญาฯ
มาลัยรามา ยังไม่มีโครงการจะทำอะไร เนื่องจากถูกรบกวนโดยลิง
ลพบุรีเธียเตอร์ปัจจุบันเป็นคอร์ทแบดมินตัน
.
บ้านฉันตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้) X ที่รัก
หมดจากหนังเรื่อง “ศรีปราชญ์” หนังที่กวดรางวัลตุ๊กตาทองไปถึง 4 สาขา เมื่อปี พ.ศ. 24…(ไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัด) ซึ่งอำนวยการสร้างโดย สนุ่น วิมุกติพันธ์ ในนามบริษัทนำไทย โปรดักชั่น ก็ยังไม่มีหนังเรื่องไหนที่จะเด่นชัดเรื่องการใช้ลพบุรีเป็นสถานที่ถ่ายทำได้เท่ากับ “บ้านฉันตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้)” และ “ที่รัก” หนังต้นทุนต่ำ แต่คุณภาพสูง
บ้านฉันตลกไว้ก่อน พ่อสอนไว้ หนังตลกจาก GTH โดยจาตุรงค์ มกจ๊ก ถ่ายทำที่มุมสำคัญๆของเมืองลพบุรีเกือบทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น พิบูลวิทยาลัย อนุบาลลพบุรี วงเวียนสระแก้วและการปลุกมาลัยรามามให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง The Litle Comedian บ้านฉันตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้) เรื่องราวของ “ต๊อก” เด็กชายวัยประถมหก ที่เกิดมาในครอบครัวตลกคาเฟ่ ที่สืบทอดเสียงหัวเราะมาตั้งแต่บรรพบุรุษ บ้านนี้รับส่งมุกกันโดยสายเลือด


ย่าปู ปู่ชง แม่ตบ พ่อตะหลึ่งตึ่งโป๊ะ แต่ปัญหาคือ ต๊อก ทายาทของครอบครัวตลกดันเกิดมามุกฝืดอย่างแท้จริง งานนี้ลูกชานคนนี้จึงกลายเป็นลูกไม้หล่นไกลต้น ที่มีเพียงคุณหมอรักษาสิว “น้ำแข็ง” คนเดียวที่ขำกับมุกตลกของลูกตลกที่ไม่ตลกคนนี้ จึงทำให้เกิดความรักความผูกพันต่างวัย ที่ดูแล้วต้องอมยิ้มกันทั่วหน้า…

.
“ที่รัก” หรือ “Eternity” โปรเจ็คของศิวโรจน์ คงสกุล ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน Hubert BBals Fund แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ หนังเรื่องนี้ได้เค้าโครงมาจากชีวิตรักจริงๆ ของพ่อแม่ผู้กำกับ และแม้ว่าพ่อของเขาจะเสียไปแล้ว แต่แม่ของศิวโรจน์ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเขียนเค้าโครงย่อให้ 4 หน้าอันทำให้ศิวโรจน์นำไปแต่งเติมเสริมต่อ เป็นภาพแห่งความทรงจำและการอยากจำที่ไม่ได้ยึดความจริงเป็นหลักเพียงอย่างเดียวโดยทั้งเรื่องถ่ายทำกันที่อำเภอท่าวุ้ง
ท่ามกลางบรรยากาศท้องทุ่งอันเงียบสงบ ก่อเกิดเป็นความรักสุดโรแมนติกขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจากการลาจะพราหคนสำคัญไป แต่ความรักที่มีให้ก็ไม่เคยจางหาย


วิทย์และก้อยดูเหมือนจะเป็นคู่ที่ไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญ เพราะความรักระหว่างหนุ่มลพบุรีกับสาวเมืองกรุงที่จะลงเอยด้วยความรักนั้นเป็นเรื่องที่หาได้ยากยิ่ง แต่ทั้งสองก็ทำให้มันเป็นจริงได้ เรื่องราวความทรงจำของทั้งสองได้ถูกบันทึกเป็นเรื่องราวและถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์แนวรักที่จะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพท้องถิ่นที่ห่างไกล การดำเนินชีวิตของผู้คนในต่างถิ่น ค่านิยมของคนไทย การเชื่อมั่นในความรักและความเชื่อทางพุทธศาสนา เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการเล่าจากความทรงจำของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งทำให้เราได้รู้จักกับว่ารักที่แท้จริงมันเป็นอย่างไรกันแน่

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Most Popular

Recent Comments